ประเพณีรับบัว คือประเพณีเก่าแก่ของชาวบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่จะจัดขึ้นทุกวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 โดยจะมีการอัญเชิญหลวงพ่อโตองค์จำลอง จากวัดบางพลีใหญ่ มาประดิษฐานบนเรือแล้วตกแต่งอย่างสวยงาม และล่องเรือไปตามคลองบางพลี เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะ โดยมีความเชื่อว่า หากอธิษฐานแล้วโยนบัวลงไปในเรือที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อโตนั้น คำอธิษฐานที่ขอมักจะประสบผลสำเร็จ
ประเพณีรับบัวนั้น มีเรื่องเล่าถึงที่มาว่า ในอดีต คนมอญปากลัด หรือ อำเภอพระประแดง ในปัจจุบัน (สมัยก่อนคนบางพลีจะมีอยู่3กลุ่มคือ คนไทย ลาว และ รามัญ หรือ มอญปากลัด) ในช่วงเทศกาลออกพรรษา คนกลุ่มนี้จะกลับไปทำบุญที่อำเภอพระประแดง และมักจะมีการล่องเรื่อมาเก็บดอกบัวหลวงที่อำเภอบางพลี โดยชาวบางพลีก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ ด้วยการเก็บดอกบัวไว้รอมอบให้คนมอญเพื่อนำไปถวายพระ ซึ่งในช่วงเวลาต่อมา ทั้งชาวไทยและชาวมอญ ต่างพายเรือมาเก็บดอกบัวหลวงที่อำเภอบางพลี และไปนมัสการหลวงพ่อโตพร้อมกัน ซึ่งระยะทางจะพระประแดงไปบางพลีก็นับว่าไกลพอสมควร เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เรือแต่ละลำก็ทำการร้องรำทำเพลงกันมาตลอดทาง ส่วนการโยนบัวนั้น ดั้งเดิมก็จะเป็นการรับแบบส่งมือถึงมือแบบปกติ แต่หากสนิทคุ้นเคยกัน ก็จะเป็นโยนให้กัน จึงเป็นที่มาของประเพณี “รับบัว” จนถึงทุกวันนี้